ท่ามกลางกล้องมากมายที่มีให้เลือกซื้อ มันจะมีกล้อง 1 ชนิด ที่มักจะอยู่ลอยตัวเหนือคู่แข่งในประเภทอื่นเสมอ ด้วยข้อดีที่ต่างกับกล้องชนิดอื่น นั่นคือผู้ใช้งานจะได้ภาพถ่ายออกมาเป็นใบใบในทันทีที่ถ่ายรูป เรากำลังพูดถึงกล้องโพลารอยด์ กล้องน่ารัก ๆ ที่ใครก็ต้องเคยเห็น แต่แท้จริงแล้วกล้องโพลารอยด์คืออะไร ทำงานอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ในบทความนี้ของเราจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกล้องน่ารัก ๆ ประเภทนี้ แล้วคุณจะเข้าใจว่ากล้องโพลารอยด์คืออะไรกันแน่
แต่ก่อนที่จะอธิบายว่ากล้องโพลารอยด์คืออะไร เราขอแวะที่ประวัติของกล้องโพลารอยด์ก่อนว่าเจ้ากล้องประเภทนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ประวัติกล้องโพลารอยด์
กล้องโพลารอยด์ตัวแรกในปี 1948
ปี 1948 เป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักกับกล้องโพลารอยด์ นั่นเพราะมันเป็นปีที่กล้องโพลารอยด์ตัวแรกได้ออกวางจำหน่ายในชื่อ Model 95 ใช้ฟิล์มแบบ Peel Sheet ณ ห้างสรรพสินค้า Jordan Marsh เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
กล้องโพลารอยด์คือกล้องที่ถือกำเนิดขึ้นจากการค้นคว้าและวิจัยของเอ็ดวิน แลนด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่หลายคนขนานนามให้เขาเป็น Steve Jobs แห่งทศวรรษที่ 70 และต่อมาเขาก็ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Polaroid Corporation ด้วย โดยเอ็ดวิน แลนด์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างกล้องโพลารอยด์จากคำถามที่เรียบง่ายของลูกสาวเขาเองว่า “พ่อคะ ทำไมเราต้องรอภาพถ่ายนานเป็นสัปดาห์กว่าจะได้เห็นรูปด้วยคะ” ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะอธิบายว่า เราต้องนำฟิล์มไปล้างก่อนไงครับ แต่คำถามนี้ของลูกสาวกลับจุดประกายให้กับเขา ถึงขนาดที่เขาได้ใช้เวลาในช่วงบ่ายวันนั้นเลยมานั่งสเกตซ์ภาพกล้องและฟิล์มที่จะสามารถผลิตรูปถ่ายออกมาได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการล้างในแลบ และ 5 ปีต่อมา เขาก็สามารถสร้างและนำกล้องโพลารอยด์ออกวางจำหน่ายได้สำเร็จอย่างที่เราได้บอกไปแล้วข้างต้น
โพลารอยด์ รุ่น SX-70 ผลิตปี 1972
โดยในช่วงแรก ๆ เอ็ดวิน แลนด์ ยังไม่สามารถผลิตฟิล์มได้ด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยพาร์ทเนอร์อย่าง Kodak เข้ามาช่วยผลิตฟิล์มให้ แต่แล้วก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่าง Polaroid และ Kodak เพราะ Kodak อยากจะส่งกล้องชนิดเดียวกันนี้ออกมาวางจำหน่ายด้วย แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะ Polaroid ได้จดลิขสิทธิ์ดักเอาไว้หมดทุกทาง จนในที่สุด Kodak ก็เลิกผลิตฟิล์มส่งให้ Polaroid แถมยังผลิตกล้องที่ทำงานเหมือนกันเด๊ะ แต่ดีไซน์ด้อยกว่าออกมาวางจำหน่ายแข่งกัน จนถูก Polaroid ฟ้องร้องเป็นเรื่องเป็นราวกันยืดยาว แต่ระหว่างนั้นเอ็ดวิน แลนด์ก็ได้ผลิตกล้อง Polaroid รุ่น SX-70 สำเร็จในปี 1972 โดยกล้องรุ่นนี้เป็นกล้องที่มีขนาดเล็ก สามารถพับเก็บใส่กระเป๋าเสื้อได้ แถมฟิล์มที่ใช้ก็ไม่ใช่ฟิล์มแบบ Peel Sheet ที่ถ่ายออกมาแล้วต้องฉีกเอากระดาษอีกด้านออกอีกต่อไป นี่จึงเป็นกล้องรุ่นที่ฮิตมากทั่วโลกจนเป็นตำนาน นอกจากนี้ระหว่างที่มีเรื่องฟ้องร้องกับ Kodak อยู่นั้น Polariod ยังได้พยายามสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ราคาถูกลงและลงทุนผลิตฟิล์มด้วยตัวเองอีกด้วย ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น ใครที่มีกล้องโพลารอยด์อยู่ในมือจะจัดว่าเป็นคนทันสมัย เราจึงได้เห็นภาพยนต์ในสมัยนั้นได้นำเอากล้องโพลารอยด์ไปใช้ในฉากด้วย เพื่อเรื่องบอกเล่าถึงความเท่ความทันสมัยของยุค
กล้อง Instax ที่ทันสมัยจาก Fujifilm
ในปัจจุบันกล้องโพลารอยด์ที่นิยมใช้มากที่สุดต้องยกให้ Instax Camera จาก Fujifilm โดย Fujifilm ที่ได้เริ่มพัฒนากล้องตั้งแต่ช่วงปี 1980 จนได้กล้องโพลารอยด์ที่มีหน้าตาและช่องใส่ฟิล์มที่แหวกแนวออกไป มีการเพิ่มโหมดถ่ายรูปที่แตกต่างจากกล้องแบรนด์อื่นจนเป็นที่นิยมทั้งเอเชียจนถึงปัจจุบัน นอกจาก Polaroid และ Fujifilm แล้ว ยังมีแบรนด์อื่น ๆ ที่ผลิตกล้องโพลารอยด์ด้วยเช่นกัน ทั้ง Lomography, Mint Camera และ Leica
แม้ทุกวันนี้บริษัท Polaroid Corporation จะล้มละลาย และหยุดทุกสายการผลิตลงในปี 2008 แล้ว แต่ก็ต้องขอบคุณ Polaroid ที่สร้างนวัตกรรมสุดล้ำนี้ให้เราได้ใช้กันต่อไป
กล้องโพลารอยด์คืออะไร
ก่อนอื่นต้องบอกว่าโพลารอยด์ไม่ใช่ชื่อประเภทของกล้อง โดยกล้องประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า Instant film camera แต่เหตุผลที่หลายคนมักเรียกกล้อง instant film camera ว่ากล้องโพลารอยด์ นั่นก็เพราะโพลารอยด์คือยี่ห้อสุดฮิตของยุคนั้นนั่นเอง เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มาม่าที่ไม่ใช่ประเภทของอาหาร แต่เป็นยี่ห้อที่ดังมากจนใคร ๆ ก็เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามาม่า แม้ว่ากำลังซื้อยำยำอยู่ก็ตาม
กล้องโพลารอยด์ คือ กล้องที่มีกลไกภายในและฟิล์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถสร้างภาพถ่ายบนฟิล์มได้ด้วยตัวเองทันที โดยฟิล์มจะมีภาพปรากฏขึ้นได้ในไม่กี่วินาทีหลังจากที่ถ่ายภาพ โดยเมื่อคุณกดชัตเตอร์แสงจะตกกระทบลงฟิล์ม สารเคมีบนฟิล์มจะแตกกระจายออกเพื่อเริ่มกระบวนการสร้างภาพถ่าย แล้วลูกลิ้งภายในกล้องก็จะค่อย ๆ รีดสารเคมีให้ไปทั่วฟิล์ม และ บู้ม! กลายเป็นรูปโพลารอยด์สุดคลาสสิคให้คุณเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ
แน่นอนกว่าแบรนด์กล้องโพลารอยด์สุดฮิตก็หนีไม่พ้น Polaroid แต่นอกจากนี้ก็ยังมี Fujifilm, Kodak, Lomography, Mint Camera และ Leica โดยมีราคาเบา ๆ ในหลักพันเท่านั้นเอง เริ่มต้นที่ประมาณ 1,690 บาท จะมีก็แค่ Leica เท่านั้นที่จะราคาแพงไม่ดูเพื่อนข้างเคียงตามสไตล์ของ Leica ซึ่งมาในราคาหลักหมื่นนั่นเอง
การทำงานของกล้องโพลารอยด์
ความน่าทึ่งของกล้องโพลารอยด์คือการที่สามารถสร้างห้องแลบสำหรับล้างฟิล์มเอาไว้ได้ในตัวกล้อง สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกล้องโพลารอยด์ทำงานได้อย่างนี้ ก็หนีไม่พ้นเรื่องความพิเศษของฟิล์มที่ใช้ ซึ่งก่อนที่จะเข้าใจว่ากล้องโพลารอยด์ทำงานอย่างไร คุณต้องเข้าใจพื้นฐานของฟิล์มถ่ายภาพแบบดั้งเดิมก่อน
ฟิล์มมีพื้นฐานเป็นพลาสติกที่เคลือบด้วยอนุภาคของสารประกอบเงินที่ไวต่อแสง ฟิล์มขาวดำมีสารประกอบเงินเพียง 1 ชั้น ส่วนฟิล์มสีจะมีสารประกอบเงิน 3 ชั้น โดยฟิล์มชั้นบนสุดจะไวต่อแสงสีน้ำเงิน ชั้นตรงกลางจะไวต่อสีเขียว และชั้นล่างสุดจะไวต่อสีแดง เมื่อฟิล์มได้รับแสง เกรนที่ไวต่อแสงในแต่ละชั้นจะตอบสนองต่อแสงของสีนั้นเกิดเป็นสีเงินเมทัลลิกในชั้นนั้น ๆ นั่นแปลว่าคุณได้บันทึกภาพทางเคมีของรูปแบบแสงและสีเอาไว้บนแผ่นฟิล์มเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการล้างฟิล์ม (ที่เราจะยังไม่ลงรายละเอียด) จนได้ออกมาเป็นภาพถ่าย ซึ่งฟิล์มของกล้องโพลารอยด์ก็ทำงานเช่นเดียวกันกับฟิล์มแบบดั้งเดิมของกล้องฟิล์ม โดยมีชั้นของเกรนที่ไวต่อแสงเหมือนเคลือบอยู่บนแผ่นพลาสติกเหมือนกัน แต่เพิ่มเติมด้วยชั้นของสารเคมีอีกหลายชั้นที่จำเป็นในกระบวนการสร้างภาพถ่าย โดยระหว่างชั้นเกรนที่ไวต่อแสงแต่ละสีจะต้องมีชั้นของสารย้อมสีเพิ่มขึ้นมา ทั้งหมดนี้จะอยู่บน black base layer แต่อยู่ใต้ image layer, timing layer และ acid layer การจัดเรียงตัวของชั้นทางเคมีเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่เคมีที่นอนรอให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่บนฟิล์ม เพื่อสร้างสรรค์รูปภาพสุดคลาสสิค นอกจากนี้ยังต้องมี reagent ที่จะถูกรวมเอาไว้เป็นหยดเล็ก ๆ ที่ขอบของแผ่นพลาสติกห่างจากวัสดุที่ไวต่อแสงด้วย ซึ่ง reagent นี้เองที่จะทำให้ฟิล์มไม่สร้างรูปภาพขึ้นก่อนที่จะถูกแสง
เมื่อคุณกดชัตเตอร์แผ่นฟิล์มจะเคลื่อนออกจากกล้องผ่านลูกกลิ้ง ลูกกลิ้งจะทำหน้าที่รีด reagent ออกไปทั่วแผ่นฟิล์ม reagent จะกระจายระหว่างตัวระหว่าง image layer ชั้นที่ไวต่อแสง และทำปฏิกิริยากับชั้นเคมีอื่น ๆ ไปด้วย เมื่อสารเคมีของตัวทำปฏิกิริยาจะเคลื่อนที่ลงมาตามชั้นต่าง ๆ มันจะเปลี่ยนอนุภาคในแต่ละชั้นให้กลายเป็นสีเงินเมทัลลิก จากนั้นสารเคมีจะละลายสีย้อมและเริ่มกระจายไปยังชั้น image layer เกรนที่สัมผัสกับแสงแล้วจะจับสีย้อมแต่ละชั้น ในขณะเดียวกัน acid layer ก็ทำปฏิกิริยากับอัลคาไลและสารทึบแสงใน reagent ไปด้วย ทำให้การทึบแสงมีความชัดเจนขึ้น เพื่อช่วยให้คุณมองเห็นภาพที่เกิดขึ้นที่ด้านล่างได้
ข้อดี ข้อเสียของกล้องโพลารอยด์
ข้อดีของกล้องโพลารอยด์
- เป็นกล้องที่ราคากล้องไม่แพงเลย ส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักพันเท่านั้นเอง ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,690 บาท
- ส่วนใหญ่กล้องโพลารอยด์จะทำงานด้วยถ่านขนาด AA 2 – 4 ก้อน จึงไม่ต้องพกพาสายชาร์จไปไหนมาไหนด้วย ถ้าไปถ่ายนอกสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ก็ไม่ต้องกังวลเพราะกล้องใช้ถ่าน ไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ ถ่านหมดก็แค่ซื้อถ่านใหม่ใส่
- ได้รูปเลย ไม่จำเป็นต้องรออัดหรือปริ้นต์รูป
- ดีไซน์น่ารักโดนใจทุกวัย
- พกพาสะดวก เพราะมีขนาดเล็กกะทัดรัดและส่วนใหญ่จะทำจากพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา
- คนนิยมนำภาพโพลารอยด์ไปใช้ตกแต่งสถานที่ได้ด้วย เช่น ในงานแต่งงานหรือมุมเก๋ ๆ ของบ้าน
- ภาพที่ได้จะมีเพียงภาพเดียวในโลกเท่านั้น ไม่สามารถนำไปล้างซ้ำได้เหมือนกล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิตอล
ข้อเสียของกล้องโพลารอยด์
- ไม่เหมาะกับนำมาใช้งานจริงจัง เพราะไม่สามารถปรับแต่งค่าอะไรได้มากมาย
- ส่วนใหญ่จะเป็นกล้องที่ไม่มีจอภาพให้ดู เวลาถ่ายก็จะต้องกะเกณฑ์เอาเองว่าจะออกมาดีหรือไม่
- ไม่สามารถแก้ไขภาพได้เช่นเดียวกันกับกล้องฟิล์มทุกรุ่น
- บางรุ่นก็มีแฟลช แต่หลายรุ่นก็ไม่มี การถ่ายในที่แสงน้อยให้ดูดีทำได้ยากมาก
- แม้จะเป็นกล้องที่มีราคาไม่แพง แต่ฟิล์มแพงมาก ยิ่งขนาดฟิล์มใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งแพง
- ถ้าวันนั้นต้องถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก ก็แปลว่าจะต้องพกฟิล์มกองโตไปด้วย เพื่อให้พอกับจำนวนรูปที่ต้องการ