หลังโครงการก้าวคนละก้าวสิ้นสุดลง หลายคนก็หันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งกันมากขึ้น ทั้งวิ่งระยะสั้น วิ่งมาราธอน วิ่งเทรล หรือแม้กระทั่งวิ่งออกกำลังกายสนุก ๆ ในสวนสาธารณะ การวิ่งนอกจากจะสนุก ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากมายแล้ว อุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็มีแค่รองเท้าวิ่งเท่านั้น อย่างที่เราได้บอกไปว่าการวิ่งมีด้วยกันหลายอย่าง รองเท้าที่ใช้คู่กับการวิ่งแต่ละแบบก็แตกต่างกัน วันนี้เราจึงนำเอาคำแนะนำในการเลือกรองเท้าวิ่งชายและหญิงมาฝากทุกคน แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีการเลือกรองเท้าวิ่ง มาดูสิ่งที่สำคัญที่สุด 4 เรื่องที่ควรพิจารณาก่อนซื้อรองเท้าวิ่ง เรามาดูส่วนประกอบของรองเท้ากันก่อน
1. ส่วนประกอบของรองเท้าวิ่ง
- หน้าผ้า (Upper) อยู่ที่ส่วนบนของรองเท้า ทำหน้าที่ห่อหุ้มเท้าด้านบนเพื่อยึดเท้าให้กระชับ มักทำจากผ้า และจะต้องถูกออกแบบมาให้ระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้รองเท้าอับชื้น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- ส่วนกระชับข้อเท้า (Collar) อยู่ที่บริเวณข้อเท้า ทำหน้าที่โอบรับข้อเท้าและเอ็นร้อยหวายทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย หากส่วนนี้มีการบุเอาไว้อย่างดีจะไม่ทำให้ข้อเท้าเสียดสีจนระคายเคืองหรือไม่มีอาการรองเท้ากัดนั่นเอง
- ลิ้นรองเท้า (Tongue) อยู่ที่ใต้เชือกรองเท้า ทำหน้าที่รองรับการเสียดสีที่เกิดจากเชือกรองเท้าและช่วยกระชับบริเวณกลางเท้าให้ติดอยู่กับรองเท้าด้วย
- เชือกรองเท้า (Laces) ส่วนนี้ทุกคนรู้จักกันดี ทำหน้าที่สร้างความกระชับ ทำให้เท้าของผู้สวมใส่ติดอยู่กับรองเท้าอย่างแน่นหนา จึงเป็นอีกจุดที่จะได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ (แถมผู้ใช้งานหลายคนยังใส่ใจหารูปแบบการผูกเชือกรองเท้าให้สวยงามอีกด้วย)
- พื้นที่ช่วงนิ้วเท้า (Toebox) คือบริเวณที่อยู่ด้านหน้าของรองเท้าตรงช่วงของนิ้วเท้า คนที่มีหน้าเท้ากว้างต้องสนใจบริเวณนี้เป็นพิเศษ เพราะถ้าซื้อรองเท้าที่มี Toebox แคบก็จะทำให้รองเท้ารัดนิ้วเท้า เบียดกันจนอึดอัด และอาจเสียดสีจนเป็นแผลได้
- ส่วนกระชับส้นเท้า (Heel Counter) อยู่ที่บริเวณส้นเท้า ทำหน้าที่ประคองเท้า เพิ่มความมั่นคงขณะวิ่ง และรองรับเท้าไปด้วยในเวลาเดียวกัน
- พื้นกลาง (Midsole) คือพื้นรองเท้าส่วนกลาง เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรองเท้า ทำหน้าที่รองรับเท้าขณะวิ่ง ช่วยรับแรงกระแทก และยังช่วยในการทรงตัว ราคาของรองเท้าวิ่งแต่ละคู่จะถูกหรือแพงจะตัดสินกันที่วัสดุที่ใช้ทำพื้นกลางนี่แหละ
- พื้นนอก (Outsole) เป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับพื้นขณะวิ่ง จึงต้องทำจากวัสดุที่คงทนแข็งแรง
- ร่องดอกยาง (Flex Grooves) อยู่บนพื้นนอกของรองเท้า ช่วยทำให้ไม่ลื่นขณะวิ่งบนพื้นผิวเรียบหรือพื้นเปียก
- พื้นรองเท้า (Insole) พื้นรองเท้าด้านในเป็นแผ่นรองแบบถอดได้ซึ่งอยู่ภายในรองเท้าและให้การกระแทกและการรองรับเพิ่มเติม นักวิ่งบางคนอาจเลือกที่จะเปลี่ยนพื้นรองเท้าเดิมด้วยพื้นรองเท้าแบบกำหนดเองเพื่อให้สวมใส่ได้พอดีหรือรองรับเพิ่มเติม
2. รูปทรงของเท้าแต่ละแบบเหมาะกับรองเท้าแบบใด
รูปทรงของเท้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเท้าหน้ากว้าง เท้าเรียวสวย หรือกระดูกโปน แต่เรากำลังหมายถึงรูปเท้าปกติ (Normal Arch) รูปเท้าแบน (Flat Arch) และรูปเท้าสูง (High Arch) การใส่รองเท้าตามรูปเท้าของคุณจะทำให้สุขภาพเอ็นและข้อต่อยังทำงานได้ดีในระยะยาว โดยเฉพาะกับรองเท้าวิ่งยิ่งต้องใส่ใจ ต้องเลือกใส่ให้เหมาะกับรูปทรงเท้า เพราะเป็นรองเท้าที่ต้องใส่ไปวิ่งซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่เท้าจะต้องรับแรงกระแทกตลอดเวลา เดี๋ยวนี้ร้านขายเครื่องกีฬาหลาย ๆ ร้านจะมีอุปกรณ์สำหรับวัดรูปเท้าแล้ว ถ้าคุณยังไม่รู้ว่ารูปเท้าของคุณเป็นอย่างไร ให้สอบถามพนักงานและขอความช่วยเหลือให้วัดรูปทรงเท้าให้ก่อน แล้วค่อยเลือกดีไซน์ที่ถูกใจจากพื้นรองเท้าประเภทที่เหมาะสมกับรูปทรงเท้าของคุณ
รูปเท้าแบน คือ รูปเท้าที่บริเวณอุ้งเท้าบริเวณกลางเท้าที่สูญเสียความสูงไปหรือที่ร้ายแรงขึ้นก็คือแบนติดพื้นเลย ในระยะเมื่อมีอาการเท้าแบนจะทำให้กลไกการทำงานของเท้าและข้อเท้าสูญเสียไป ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและอาจจะมีความผิดรูปของข้อเท้าและนิ้วเท้าตามมาได้ สาเหตุเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดและรูปเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง เพราะโรคบางชนิด เช่น เส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเสื่อม ข้อเสื่อม เส้นเอ็นเสื่อมที่เกิดจากภาวะโรคอักเสบข้อเรื้อรัง
รูปเท้าสูง คือ รูปเท้าที่มีความโค้งของฝ่าเท้าหรืออุ้งเท้ามากกว่าปกติ ทำให้เวลายืน เดิน และวิ่ง น้ำหนักจะกดทับและกระแทกลงบริเวณฝ่าเท้ามากกว่ารูปเท้าอื่น แต่คนที่มีลักษณะอุ้งเท้าสูงจะไม่ได้มีมากนัก อยู่ที่ประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด สาเหตุเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดและความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่มีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่นกัน
รองเท้าวิ่งที่เหมาะกับรูปทรงเท้าต่าง ๆ
- รูปเท้าปกติ: หากวัดเท้าแล้วพบว่าคุณมีรูปเท้าปกติ ดีใจด้วย คุณสามารถเลือกใส่รองเท้าวิ่งได้ทุกประเภทเลย
- รูปเท้าแบน: จำเป็นต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสม เพราะถ้าใส่รองเท้าไม่ถูกต้องไปวิ่งยิ่งจะทำให้มีปัญหาที่ข้อต่อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ดังนั้นให้มองหารองเท้าที่ระบุว่าเป็น Motion Control หรือ Stability ซึ่งมีในหลายแบรนด์ แต่ที่นิยมใช้ ได้แก่ New Balance Fresh Foam, Brooks Adrenaline, HOKA Arahi, ASICS GEL-Kayano, Saucony Guide, Mizuno Wave Horizon, On Cloudstratus, Diadora Mythos Blueshield Vigore และ Topo Athletics Ultrafly
- รูปเท้าสูง: อย่างที่บอกว่ารูปเท้าแบบนี้เวลาลงน้ำหนักแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจะมากกว่ารูปเท้าอื่น ถ้าเลือกรองเท้าที่ไม่ถูกต้อง จะปวดเท้า อาจเกิดการอักเสบบริเวณอุ้งเท้าด้านหน้า ปวดส้นเท้ารุนแรง เอ็นร้อยหวายอักเสบ และข้อเท้าอาจจะพลิกได้ระหว่างวิ่ง ดังนั้น อย่างลืมเลือกรองเท้าวิ่งที่ระบุว่าเป็น Flexible หรือ Cushioned ซึ่งมีในหลายแบรนด์ แต่ที่นิยมใช้ ได้แก่ HOKA Bondi, Brooks Glycerin, ASICS GEL-Nimbus, Karhu Synchron, Saucony Triumph, On Cloudstratus, Mizuno Wave Sky, New Balance Fresh Foam More, Nike React Infinity Run, Altra Via Olympus และ Topo Athletics Phantom
3. วิธีเลือกรองเท้าวิ่งสำหรับมือใหม่ เลือกอย่างไรให้สบายเท้า
เลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับลักษณะการวิ่งของคุณ
คุณเป็นคนที่วิ่งแบบไหน เลือกให้เหมาะกับแบบนั้น เพราะการวิ่งมีด้วยกันหลายอย่าง วิ่งเบา ๆ แค่ออกกำลังกายสั้น ๆ เล็กน้อย วิ่งเทรล วิ่ง Fun Run 5 กิโลเมตร วิ่งมินิมาราธอน วิ่งฮาล์ฟมาราธอน หรือวิ่งฟลูมาราธอน ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อรองเท้าวิ่งก็ต้องพิจารณาลักษณะการวิ่งของตัวคุณเองประกอบทุกครั้ง หากเป็นการวิ่งเทรลก็ควรเลือกรองเท้าที่ทำมาเพื่อการวิ่งเทรลโดยเฉพาะ เพราะหน้ารองเท้าจะแข็ง ช่วยป้องกันการกระแทกที่จะเกิดขึ้นกับนิ้วเท้าเมื่อวิ่งไปชนกับหิน หรือ รากไม้ ต้นไม้ระหว่างการวิ่ง รวมถึงมีปุ่มรองเท้าที่ทำมาให้เกาะกับพื้นดินได้ดี ส่วนถ้าคุณเป็นคนวิ่งมาราธอนหรือวิ่งครั้งละนาน ๆ ก็ควรเลือกรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกจากการวิ่งนาน ๆ ได้ดี
เลือกขนาดรองเท้าวิ่งให้พอดีกับเท้า
รองเท้าวิ่งราคาแรงอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ขอแนะนำว่าอย่าเห็นแก่ของเซลจนซื้อรองเท้าวิ่งที่ขนาดไม่ตรงกับเท้าของตัวเองมาใช้เพราะมันเซล การเลือกรองเท้าวิ่งที่ถูกต้องต้องเลือกที่ใส่แล้วพอดีเท้า ไม่คับไม่หลวมจนเกินไป เพราะถ้าคับเกินไปก็จะทำให้นิ้วเท้ากระแทกกับรองเท้าจนมีอาการห้อเลือด หรือถ้าเล็บเท้ายาวก็จะไปข่วนกับนิ้วเท้าข้าง ๆ จนเป็นแผลเลือดออกได้ ส่วนถ้าหลวมเกินไปก็จะทำให้มีปัญหารองเท้ากัดหรือหลุดระหว่างวิ่งได้
ระบายอากาศได้ดี น้ำหนักเบา
รองเท้าวิ่งควรจะเลือกวัสดุที่ทำให้มีน้ำหนักเบาด้วย เพราะถ้ารองเท้าวิ่งมีน้ำหนักเบาจะช่วยลดอาการหน่วงขณะที่วิ่ง เด้งตัวจากพื้นได้ดีขึ้น การเลือกใช้รองเท้าวิ่งที่เบาจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งและทำเวลาได้ดีขึ้นกว่ารองเท้าที่หนัก นอกจากนั้นรองเท้าวิ่งที่ดีควรจะระบายอากาศได้ดี เพื่อลดกลิ่นเหงื่อ กลิ่นอับ กลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ และไม่มีปัญหาเหงื่อชุ่มจนลื่นด้านในของรองเท้าขณะวิ่ง
พื้นรองเท้าวิ่งรองรับแรงกระแทกได้ดี
การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง (Higher Impact Cardio Exercise) ทำให้เกิดแรงกดหรือแรงกระแทกที่ข้อเท้า-ข้อเข่ามาก ดังนั้น รองเท้าวิ่งที่ดีจะต้องมีพื้นรองเท้าที่รับแรงกระแทกได้ดี ซึ่งเป็นการถนอมร่างกายให้สามารถวิ่งต่อไปได้นาน ๆ โดยไม่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ทำให้สบายเท้ามากขึ้น ช่วยประคองเท้า และยังเพิ่มความมั่นคงให้กับการวิ่งได้อีกด้วย และอย่าลืมเลือกพื้นรองเท้าให้เหมาะกับรูปทรงเท้าของคุณตามที่เราได้อธิบายไว้ข้างต้นด้วยนะ
รองเท้ามีความยืดหยุ่นสูง โค้งงอตามรูปเท้าได้
รองเท้าวิ่งที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืดหยุ่น โค้งงอไปตามลักษณะการเคลื่อนไหวของเท้าได้ดี เพราะจะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจขึ้นจากการวิ่งได้ ถ้าใช้รองเท้าชนิดอื่นมาวิ่งหรือเลือกรองเท้าวิ่งที่ไม่มีความยืดหยุ่นเท่าไหร่จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วเท้า ข้อเท้า เอ็นร้อยหวายต้องออกแรงมากขึ้นจึงทำให้มีอาการปวดที่เท้าและข้อเท้า หรือกล้ามเนื้ออักเสบได้ เมื่อต้องวิ่งเป็นเวลานาน เช่น ในการวิ่งมาราธอน
เลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับพื้นที่คุณจะนำไปใช้วิ่ง
เมื่อพูดถึงปัจจัยด้านพื้นที่จะนำไปใช้วิ่งนั้น เราจะสามารถแบ่งรองเท้าวิ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
- รองเท้าวิ่ง Trail จะใช้สำหรับวิ่งบนพื้นธรรมชาติ เช่น วิ่งในป่า วิ่งบนพื้นดิน ที่มีได้ทั้งพื้นที่มีน้ำขัง โคลน ทางชัน พื้นขรุขระ ไม่เรียบสม่ำเสมอ มีหิน มีรากไม้ ฯลฯ หากคุณกำลังจะซื้อรองเท้าวิ่ง ไปวิ่งในพื้นที่เหล่านี้ ก็ต้องเลือกรองเท้าวิ่งเทรลที่มีปุ่มยื่นออกมาจากพื้นรองเท้า เพื่อป้องกันการลื่น ยึดเกาะกับพื้นดินได้ดี โครงแข็งจนป้องกันการบาดเจ็บจากการเตะหิน และหลายรุ่นก็ยังกันน้ำได้อีกด้วย
- รองเท้าวิ่ง Road/Indoor หากคุณวิ่งแค่ในยิม ในสวนสาธารณะ บนพื้นคอนกรีต พื้นถนน พื้นยาง ก็ควรเลือกรองเท้าที่พื้นเรียบ พื้นรองเท้ามีความหนา น้ำหนักเบา รับแรงกระแทกได้ดี เพื่อช่วยทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคง และรับแรงกระแทกได้ดี เมื่อต้องวิ่งบนพื้นที่มีความแข็งเหล่านี้
- รองเท้าวิ่ง All Terrain คือรองเท้าวิ่งที่นำเอาข้อดีของรองเท้าวิ่ง Trail และ รองเท้าวิ่ง Road/Indoor มาไว้รวมกัน จึงทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งบนพื้นเรียบ ๆ และพื้นธรรมชาติ ถ้าคุณเป็นคนที่วิ่งในทุกพื้นที่แล้วล่ะก็ รองเท้าวิ่ง All Terrain ก็จะตอบโจทย์ข้อนี้ของคุณได้ดี
เลือกรองเท้าที่ออกแบบมาสำหรับวิ่งจริง ๆ และอย่าเลือกจากความสวยงามอย่างเดียว
รองเท้าผ้าใบที่ใช้ใส่เดินเล่นหรือใส่เป็นแฟชั่นสวย ๆ บางรุ่นก็ทำมาให้มีหน้าตาคล้าย ๆ รองเท้าวิ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องเช็คให้แน่ใจจริง ๆ ว่ารุ่นที่กำลังจะซื้อนั้นเป็นรองเท้าเฉพาะสำหรับวิ่งจริง ๆ ไม่ใช่ training shoe ไม่ใช้สนีกเกอร์ ไม่ใช่รองเท้าบาส ไม่ใช่รองเท้าสตั๊ด ฯลฯ อีกเรื่องที่สำคัญคือไม่ควรเลือกรองเท้าจากความสวยงามอย่างเดียว แต่ควรเลือกรองเท้าที่ใส่ได้สบาย เช่น คนที่มีเท้าหน้ากว้าง ถึงจะอยากเลือกรองเท้าวิ่งที่มีหัวรองเท้าแคบ จะได้ดูเหมือนเป็นคนเท้าเรียวแค่ไหน ก็ควรเลือกรองเท้าวิ่งที่มีหัวรองเท้ากว้างมากกว่าเพื่อความสบาย ไม่เจ็บปวดเมื่อต้องวิ่งนาน ๆ
4. สัญญาณที่บอกว่าควรเปลี่ยนรองเท้าวิ่งแล้ว
รองเท้าก็เหมือนยางรถยนต์ ที่เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนยาง ดอกยางเริ่มเสื่อมก็ต้องเปลี่ยน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น หากคุณไม่ยอมเปลี่ยนรองเท้าวิ่งเมื่อถึงเวลาก็จะทำให้มีอาการปวดที่ฝ่าเท้า หน้าแข้ง และอาจร้ายแรงถึงกับมีกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบได้เลยทีเดียว วันนี้เราจึงนำเอาสัญญาณต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่าคุณควรเปลี่ยนรองเท้าวิ่งใหม่ได้แล้ว
- ใช้วิ่งมาเกิน 500 – 600 กิโลเมตร แม้รองเท้าจะยังอยู่ในสภาพดียังไงก็ควรเปลี่ยน เพราะพื้นรองเท้าด้านในจะไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ดีเท่าเดิมแล้ว ทั้งนี้ต้องพิจารณาน้ำหนักตัวของผู้สวมใส่ วัสดุที่ใช้ และการออกแบบของรองเท้า มาประกอบด้วย เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้ใช้งานได้น้อยกิโลกว่านั้น
- รู้สึกว่าเมื่อใส่รองเท้าวิ่งแล้วมีอาการเมื่อยเท้า ไม่สบายเท้าเหมือนเดิม
- วิ่งแล้วรู้สึกปวดขาด้านล่าง ปวดบริเวณหัวเข่า ปวดหน้าแข้ง หรือมีรอยช้ำเกิดขึ้นที่ส้นเท้า
เนื้อหารองเท้าที่ใช้งานมากขึ้น: